แผ่นทองจารึกคำสัตยาธิษฐานด้วยอักขระอักษรธรรม ที่จะประกอบพิธีบรรจุ ณ หอโฮง กลางสะดือศาลปู่ดงพระคเณศ วัดป่าพระพิฆเณศวร์ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 (ถอดคำสัตยาธิฐาน)

คำสัตยาธิษฐาน
ดงพระคเณศ วัดป่าพระพิฆเณศร์
บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พุทธศักราข ๒๕๖๖

อารามป่าแห่งนี้ เป็นที่สัปปายะแก่ผู้เจริญในธรรม เป็นสถานที่พบพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย พระสังกัจจายหินทราย และพระพุทธรูปหินทรายปางต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มใบเสมาหินทรายหลากหลายขนาด อยู่ในยุคพระพุทธศาสนาทวารวดี (ราว พ.ศ.1100 -1700 ปี) นอกจากนั้น ยังได้ขุดพบโครงกระดูกคนโบราณ ซึ่งพ่อถ่านจันทร์ ได้สร้างธาตุบรรจุไว้ เรียกว่า “ธาตุคนแปดศอก”

เป็นสถานที่พบพระพิฆเณศวร์หินทราย, หินปลียอดปราสาท และโคอุสุภราชหินทราย(โคนนทิ) ตามความเชื่อของพราหมณ์ อยู่ในยุคอาณาจักรเจนละ (ราวพ.ศ. 1100 -1300 ปี)

เป็นสถานที่ขุดพบพระพุทธรูปเงิน ศิลปะเชียงแสน ล้านช้าง (หลวงพ่อเงิน) ยุคพระวอ-พระตา ตั้งเมืองดอนมดแดง (ราว พ.ศ. 2311) ถูกฝังอยู่ในกล่องหินทราย ภายในเต็มไปด้วยทรายเนื้อละเอียด ตลอดจนพบพระในรูปแบบอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนลูกหลานชาวบ้านปากน้ำทั้งปวง ล้วนเป็นผู้มีจิตศรัทธาหยั่งลึกลงยิ่งแล้ว ในพระบวรพุทธศาสนา ได้ทำการบูรณะอารามป่า ในดงพระคเณศแห่งนี้ ตั้งหอโฮงขึ้นไว้ ด้วยจิตอนุสรณ์ถึงพระคุณของพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ผู้มีนามที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “พ่อถ่านจันทร์” “ญาถ่านจันทร์” หรือ “หลวงตาจันทร์” ซึ่งออกจากวัดกลางหมู่บ้าน มาเจริญวิปัสสนา ในดงแห่งนี้ ได้ชีปะขาวนิมิตบอกตำแหน่งให้ขุดพระพุทธรูปเงินขึ้นมาจากพื้นดิน ให้ลูกหลานได้สักการะบูชา จักมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง พ้นความทุกข์เข็ญ อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป

ได้ยินมาว่า เทวดาทั้งหลาย ที่สถิตอยู่ในอารามป่าแห่งนี้ มีจิตน้อมไปในพระสัทธรรมแห่งพระบรมศาสดา เป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้มีเดชมาก เป็นผู้มีความรุ่งเรืองมาก เป็นผู้มียศมาก ขอเทวดาเหล่านั้น ทั้งปวง พึงมีจิตอ่อนโยน จงอำนวยศุภผล แก่เหล่าชนผู้ทำการสักการะบูชา เหมือนบิดามารดามีจิตอ่อนโยน อนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก

ขอพระธรรมคำสั่งสอนแห่งพระบรมศาสดา จงแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มวลสรรพสัตว์ ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่สิ้นกาลนาน ฯ

บูรณะศาลปู่ดงพระคเณศ เสร็จสิ้น เมื่อ ณ วันจันทร์ที่ ๒๗ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ

ศิษยานุศิษย์ในญาถ่านจันทร์ และลูกหลานชาวบ้านปากน้ำ ตลอดจนพุทธบริษัททั้งปวง บูรณะและเขียนคำสัตยาธิษฐานนี้ไว้