“สงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน ๒๕๖๗” 

อบต กุดลาด ฟื้นฟู ประเพณีแห่ดอกไม้ ประเพณีสงกรานต์อุบล แบบโบราณ

องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด ร่วมกับชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลกุดลาด จัดงาน “สรงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน ๒๕๖๗” เพื่อร่วมฉลองในโอกาสที่ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป โดยงานจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-16 เมษายน 2567

ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป เป็นพิธีเปิดงาน โดยจะประกอบพิธีอัญเชิญ หลวงพ่อเงิน 700 ปี ขึ้นมาจาก วัดป่าพระพิฆเณศวร์ ซึ่งเป็นสถานที่ขุดพบหลวงพ่อเงิน ผ่านมาตามถนนริมหาดบุ่งสระพัง แล้วมาบรรจบกับขบวนแห่หลวงพ่อเงินบริเวณโรงเรียนบ้านปากน้ำ จากนั้น จะเคลื่อนขบวนแห่เข้าสู่วัดปากน้ำ
สำหรับขบวนแห่หลวงพ่อเงิน จะประกอบด้วย ขบวนรถม้า ขบวนขันหมากเบ็งและขันหย่องดอกไม้แบบท้องถิ่นอีสาน ขบวนธงชัยและธงแผ่นผ้า ขบวนต้นเงิน และขบวนประชาชนแต่งชุดพื้นบ้านจากหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด

ใน วันที่ 14 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จะ อัญเชิญหลวงพ่อเงิน ไปแห่ดอกไม้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด ระหว่างเส้นที่แห่หลวงพ่อเงินผ่านไป ให้ประชาชนเตรียมดอกไม้และน้ำอบน้ำหอมไว้สรง

สำหรับ ประเพณีแห่ดอกไม้ เป็น ประเพณีสงกรานต์อุบลแบบโบราณ ซึ่งได้หายไปจากชุมชนมานานแล้ว โดย ประเพณีสงกรานต์อุบลแบบโบราณ เมื่อวันสงกรานต์มาถึงเข้า ต้องอัญเชิญพระพุทธรูปลงสรง ประชาชนจะออกไปเก็บดอกไม้มาให้หัววัดสรงน้ำพระ ซึ่งดอกไม้ที่บานหน้าแล้งไม่ค่อยมี นอกจากดอกมันปลาและดอกพะยอมที่บานหน้าแล้งและมีกลิ่นหอม ต้องไปหาเก็บ ตามทุ่ง ตามป่า พอได้ดอกมันปลาหรือพะยอมแล้ว ก็จะแห่เข้าหมู่บ้าน มีฆ้อง กลองตีฟ้อนรำกันมา คนที่ไม่ได้ไปก็จะรอในอยู่ในระหว่างทาง เตรียมน้ำไว้รดสรงให้พระเณรและผู้คนที่ร่วมอยู่ในขบวนแห่ ใครได้ดอกไม้อะไรก็จะฝากให้พระเณรนำไปสรงน้ำพระในวัดด้วย
โดยเฉพาะคนรุ่นหลัง แทบจะไม่ได้เห็นประเพณีสงกรานต์อุบลโบราณนี้แล้ว

ซึ่งในปีนี้ เป็นปีที่ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลกุดลาด จึงถือเป็นโอกาสในการพื้นฟูประเพณีแห่ดอกไม้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทของบ้านเมืองปัจจุบัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป
สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์อุบลโบราณ ก็สามารถเข้าร่วมขบวนแห่ได้ ตามวันเวลาดังกล่าว

องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด
🌐 https://www.facebook.com/kudlad
วัดปากน้ำ บุ่งสระพัง
🌐https://www.facebook.com/paknam.sity
ข่าวสารชุมชน ปากน้ำ บุ่งสระพัง บ้าน วัด โรงเรียน
🌐 https://www.paknamubonclub.com/