บุญข้าวประดับดิน หรือ ทำบุญห่อข้าวน้อย

บุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เชื่อกันว่า ในวันดังกล่าวนรกเปิดให้ผู้ตายได้มาโลกมนุษย์ได้หนึ่งวัน
ในการทำบุญข้าวประดับดินลูกหลานจะทำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็กอย่างละน้อย มาห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็ก ๆ ตามจำนวนญาติที่ตายไป นอกจากนั้นยังต้องทำเกินไว้เผื่อคนที่อาจหลงลืม และทำเผื่อเปรตที่ไม่มีญาติด้วย แล้วนำไปยาย(วาง)ไว้ตามธาตุที่เก็บกระดูกปู่ ย่า ตา ยาย ตามบริเวณเจดีย์ โบสถ์ โคนต้นไม้ใหญ่ ตามพื้นดิน หรือตามทางแพร่งให้เปรตที่ไม่มีญาติ
นอกจากจะเรียกบุญข้าวประดับดินแล้ว บางทีชาวบ้านก็เรียกว่า บุญห่อข้าวน้อยด้วย เพราะอาหารที่ใช้จะหยิบเอามาห่ออย่างละนิดอย่างละหน่อยให้เป็นห่อข้าวน้อย
ขั้นตอนพิธีกรรม
ครั้นวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 มาถึงเข้า ลูกหลานแต่ละบ้านแต่ละเรือนจะจัดเตรียมอาหารคาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ไว้ทำห่อข้าวน้อยให้ญาติได้กินและนำกลับไปด้วย นอกจากอาหารคาวหวานที่ตระเตรียมจะกะให้เพียงพอสำหรับทำห่อข้าวน้อยแล้ว ยังต้องทำให้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว และเผื่อแผ่แจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง ตลอดจนจัดเตรียมไว้สำหรับทำบุญถวายพระสงฆ์ด้วย
เวลาทำห่อข้าวน้อย พ่อแม่มักจะให้ลูกหลานตัวเล็กตัวน้อยมาช่วยหยิบโน่นหยิบนี่ด้วย เป็นการฝึกให้ลูกหลานรู้ฮีตครองไปในตัว จะว่าไปก็คือการสอนเรื่องความกตัญญูนั่นเอง แต่สอนด้วยการให้ลงมือทำในวิถีแห่งฮีตครองที่ดำเนินไปในวิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ
บางทีขณะกำลังทำก็จะบอกลูกบอกหลานไปด้วยว่า “อันนี้พ่อปู่เลามัก อันนี้แม่ย่าเลามัก อันนี่พ่อใหญ่เลามัก อันนี้แม่ใหญ่เลามัก อันนี้อีพ่อเลามัก อันนี้อีแม่เลามัก”
ส่วนวิธีห่อข้าวน้อยจะใช้ใบตองห่อ จะใช้ฝ่ามือกะขนาดเท่าฝ่ามือโดยประมาณ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวไปจนสุดซีกของใบตอง อาหารคาวหวานที่ใส่ในห่อนั้นจะจัดใส่ห่ออย่างละเล็กละน้อย ประกอบด้วย
1)ข้าวเหนียวนึ่งสุกปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ 1 ก้อน
2)เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และอาหารอื่น ๆ ใส่ลงไปอย่างละเล็กน้อย ถือว่าเป็นอาหารคาว
3)กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หมากยางเครือ หมากผีผ่วน ผลไม้ตามพื้นที่ ข้าวต้มมัด ขนมหวานอื่น ๆ ลงไป ถือเป็นอาหารหวาน
4)หมากพลูหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่ง
หลังจากนั้นก็เอาใบตองห่อรวมกันเข้าแล้วใช้ริ้วไม้ไผ่กลัดหัวท้ายและตรงกลางก็จะได้ “ห่อข้าวน้อย” ที่มีลักษณะยาวๆ ตามซีกใบกล้วยหนึ่งห่อ จากนั้นก็จะเอาหมากพลูหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ สีเสียด แก่นคูน นำมาห่อใบตองเข้าด้วยกันแล้วไม้กลัดหัวท้าย ก็จะได้ห่อหมาก พลู อีกหนึ่งห่อ เสร็จแล้วก็นำห่อข้าวน้อยและห่อหมากพลูมาผูกรวมกันเป็นคู่ ๆ แล้วนำไปมัดรวมเป็นพวง 1 พวง ๆ ละ 9 ห่อ
การยาย(วาง)ห่อข้าวน้อย
ครั้นถึงวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 เวลาประมาณ 03.00 น. ได้ยินเสียงกลองดึกตึง ๆ ดังมาจากวัด ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะลุกขึ้นนำเอาห่อข้าวน้อยที่จัดเตรียมไว้ไปยายไว้เป็นระยะ ๆ ตามธาตุที่ใส่กระดูกญาติ ตามโคนต้นไม้ในวัด ตามพื้นดิน ตามริมกำแพงวัด ตามริมโบสก์ ริมเจดีย์ หรือตามทางแพร่งสำหรับให้เปรตที่ไม่มีญาติได้กิน
หลังกลับจากการยาย(วาง)ห่อข้าวน้อยเสร็จ ก็จะกลับบ้านมาจัดเตรียมอาหารใส่บาตรและทำบุญวันพระในตอนเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9

ความเป็นมาของการทำ บุญข้าวประดับดิน

การทำ บุญข้าวประดับดิน เพื่ออุทิศให้กับญาติ มีมูลเหตุมาจากเหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนาตอนพระเจ้าพิมพิสารสร้างวัดแห่งแรกถวายพระพุทธเจ้า
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังเทศนาจนได้บรรลุธรรม ปราศจากความสงสัยในพระพุทธองค์แล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น นอกจากคำสอนของพระบรมศาสดา จึงกราบทูลว่า
“เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร มีความปรารถนา ๕ ประการ คือ
๑. ขอเราได้รับอภิเษกในราชสมบัติ
๒. ขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของเรา
๓. ขอเราได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๔. ขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แสดงธรรมแก่เรา
๕. ขอเรารู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บัดนี้ ความปรารถนาของหม่อมฉัน สำเร็จแล้วทั้ง ๕ ประการ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้ง และไพเราะยิ่งนัก หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำหม่อมฉันไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่บัดนี้ เป็นต้นไป” แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น
พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จัดเตรียมภัตตาหารอย่างประณีต ครั้นรุ่งเช้า ได้ให้เจ้าพนักงาน ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ถึงเวลาแล้ว พระบรมศาสดา ทรงครองผ้า ถือบาตร เสด็จพุทธดำเนินสู่กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวนหนึ่งพันรูป ซึ่งเคยเป็นนักบวชชฎิลมาก่อน
ในกาลนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงแปลงเป็นมาณพ เสด็จดำเนินนำหน้าพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พลางร้องเพลงสดุดีพระบรมศาสดาโดยประการต่าง ๆ
ประชาชน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพแล้ว กล่าวกันว่า “พ่อหนุ่มนี้ เป็นใครกัน ช่างมีรูปงาม น่าชมนัก” ท้าวสักกะได้ตอบประชาชนว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็นปราชญ์ ทรงฝึกอินทรีย์ทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ หาบุคคลเปรียบมิได้ พ้นแล้วจากกิเลส เสด็จไปดีแล้ว เป็นพระอรหันต์ในโลก ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น”
พระบรมศาสดาเสด็จพุทธดำเนินพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่จัดถวาย พระเจ้าพิมพิสารทรงปฏิบัติภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยพระองค์เอง
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว พระราชามีพระราชดำริว่า พระบรมศาสดา ควรประทับอยู่ในสถานที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก การคมนาคมสะดวก ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์ จะเข้าไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ ตามสมณวิสัย พระเจ้าพิมพิสาร ทรงพิจารณาว่า สวนเวฬุวัน สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ ตามสมณวิสัยทรงตัดสินพระทัยว่า เราควรถวายสวนเวฬุวัน แก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระราชาจึงตรัสสั่งให้จัดเตรียมสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก น้อมถวายวัดเวฬุวัน แด่พระพุทธเจ้า อันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เกิดธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล และเป็นที่มาของการทำบุญข้าวประดับดินเพื่ออุทิศให้กับญาติ หลังจากถวายวัดเวฬุวันแล้ว พระเจ้าพิมพิสารไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ ตกกลางคืน พวกเปรตซึ่งเป็นญาติในชาติก่อนของพระองค์ รอรับส่วนกุศลที่จะมีคนอุทิศให้มาหลาย ภพชาติ คาดหวังว่า จะได้รับส่วนกุศลจากพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อไม่ได้ก็ผิดหวัง จึงมาปรากฏตัว กรีดร้องโหยหวนขอส่วนกุศล
พระเจ้าพิมพิสารทรงสะดุ้งตื่นเพราะเสียงร้องโหยหวนของพวกเปรต ทรงหวาดหวั่นว่า จะมีภัยมาถึง จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้น คือ ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ในชาติก่อนทำบาปกรรมไว้มาก รอส่วนกุศลที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครระลึกได้ จำต้องรอคอยบุญกุศลด้วยความหิวโหยทรมานมาหลายภพชาติ ครั้นทราบว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญใหญ่ ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและ หมู่ภิกษุสงฆ์ จึงพากันมาด้วยความหวังว่า จะได้ส่วนกุศลในครั้งนี้ แต่พระองค์ก็ไม่ได้อุทิศให้ จึงมาปรากฏกายให้เห็น
พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่า หากพระองค์ทำบุญแล้วอุทิศในเวลานี้ พวกญาติ ของพระองค์ยังจะได้รับส่วนกุศลอยู่หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า หากพระองค์ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศ ส่วนกุศลให้ พวกญาติของพระองค์ก็จะได้รับ พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนา พระพุทธองค์พร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์ ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวัง เพียงชั่วขณะที่ทรงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น อัตภาพอันแสนลำบากของเปรตเหล่านั้น ได้อันตรธานไป ปรากฏได้อัตภาพทิพย์ขึ้นในขณะนั้นเลยทีเดียว
🎯 วัดปากน้ำ บุ่งสระพัง หลวงพ่อเงิน ๗๐๐ ปี
🎯 วัดบ้านบาก วัดป่าพระพิฆเณศวร์
🎯 ข่าวสารชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน