มโนปณิธาน ๑๘ (หนังสือพิมพ์คมชัดลึก หน้าธรรมวิจัย วันอังคารที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)
บายไลน์ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

พระอาจารย์ มหามังกร ปัญญาวโร
-พระอาจารย์มหามังกร ปัญญาวโร
พระราชกิจจาภรณ์ และพระสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ ต.กุดลาด อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) พระอุปัชฌาย์ของพระมหาเทอด ญาณวชิโร (รูปซ้าย ปัจจุบัน คือ พระราชกิจจาภรณ์ )

(๑๘) การตัดสินใจ…อีกครั้ง
“คนเรามักหลงลืมอะไรไปบางอย่าง เรามีสิ่งที่ประเสริฐอยู่กับตัว คือ ปัญญา ความคิด และความสามารถ ขอให้แปลงปัญญา ความคิด ความสามารถ ให้เป็นเกียรติ และความภูมิใจ นั่นคือ หนทางแห่งการสร้างศรัทธาในตัวเอง แล้วเราจะเดินบนเส้นทางของตัวด้วยตัวเราเอง ตราบเท่าที่เรายังมิอาจศรัทธาในตัวเอง เราก็ยังไม่สามารถเดินบนเส้นทางของตัวเราได้”
ข้อคิดจากท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ทำให้ระลึกถึงมโนปณิธานอันมั่นคงอันยาวนานตั้งแต่วัยเยาว์อายุเพียงสิบเอ็ดสิบสองปีที่ต้องการจะเป็นพระ กระทั่งวันนี้ผ่านไป ๔๗ ปี เกือบ ๓๐ พรรษาแล้ว ตลอดชีวิตแห่งการหล่อหลอมมโนปณิธานไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวันสองวัน หากมาจากอจลศรัทธาที่มั่นคงในตัวท่านเอง จากครอบครัวอันอบอุ่น และแวดล้อมไปด้วยครูบาอาจารย์และกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา
ดังที่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังต่อมาว่า ที่จริง ในปี ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นปีที่สองของการบวชเณร เคยมาเรียนบาลีที่กรุงเทพแล้วคราวหนึ่ง พักอยู่กับหลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร วัดราชนัดดาราม ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อที่บ้าน ขณะนั้น โรงหนังเฉลิมไทยยังไม่รื้อ ต้องเดินไปเรียนวัดสุทัศน์ แต่ก็ไม่ได้เรียนเป็นจริงเป็นจังอะไร อยู่ได้ไม่นานมีเหตุต้องกลับอุบล หลวงพ่อวัดปากน้ำก็ไม่ละความพยายามที่จะให้เป็นมหาเปรียญ จึงพาไปฝากเรียนบาลีอยู่กับอาจารย์มหามังกร ปัญญาวโร ที่วัดสุปัฏนาราม ในเมืองอุบลราชธานี ขณะนั้น อาจารย์มหามังกรยังไม่ไปอยู่ป่า ยังเป็นอาจารย์สอนบาลีของสำนักนั้น รุ่งขึ้นอีกปี คือ ปี ๒๕๒๙ ท่านจึงเข้าป่า และเป็นปีที่หลวงพ่อวัดปากน้ำให้อาตมาไปเป็นสามเณรอุปัฏฐาก
หลังจากได้ไปกราบหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสนมหาเถระ) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ท่าน และจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กระทั่งเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำ จ.อุบลราชธานี ราวหนึ่งพรรษา
“ช่วงนั้น ตั้งใจจะอยู่ที่วัดปากน้ำต่อไป คงจะเพราะเป็นบ้านเกิด และมีความผูกพันอยู่กับชาวบ้าน อยู่กับท้องนา ป่าน้ำ พอว่างเว้นงานสอนก็จะหาเวลาออกไปอยู่ป่าบ้าง และช่วยงานอย่างอื่นหลวงพ่อวัดปากน้ำบ้าง ด้วยตอนนั้นท่านอายุมากแล้ว เริ่มอาพาธอยู่บ่อย”
ในพรรษาที่สองนี่เอง จุดเปลี่ยนแปลงในชีวิตอีกครั้งของท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็มาถึง
“ครั้งนั้นไปอยู่ป่าริมแม่น้ำโขง ที่โขงเจียม หรือศรีเมืองใหม่ จำไม่แม่น อยู่กับชาวบ้าน บิณฑบาต ฉันมื้อเดียว แล้วชาวบ้านเขาก็ดูแลดี อาตมาไปอยู่ที่นั่น มีเณรวิ่งจีวรปลิวตามไปอยู่ด้วยรูปหนึ่ง จึงไปอยู่ป่ากันสองรูป เช้ามาก็เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แรกๆ ชาวบ้านก็ถามว่า ท่านฉันแบบไหน ก็ตอบไปว่า ฉันมื้อเดียว แล้วก็ถามว่า ฉันอาหารทั่วๆ ไปหรือ มังสวิรัติ อาตมาก็ตอบว่า แล้วแต่โยม ใส่บาตรอะไรมาให้ฉันก็ได้ โยมก็บอกว่า งั้นนิมนต์ฉันเป็นมังสวิรัติแล้วกัน โยมจะหาเห็ดหาหน่อไม้ให้ท่านฉัน
“อาตมาก็ออกมาบิณฑบาตในหมู่บ้านแล้วกลับไปฉันที่ริมแม่น้ำโขงทุกวัน อยู่ที่นี่ได้ราวสองสามสัปดาห์ คืนหนึ่ง สวดมนต์ทำวัตรภาวนาเสร็จแล้ว ก่อนจำวัดก็นำบาตรไว้หัวนอน เอาผ้าสังฆาฏิวางไว้บนบาตร และย่ามหลวงพ่อสมเด็จวางไว้ข้างบาตร ในย่ามจะมีเหรียญรูปหลวงพ่อสมเด็จ ก็นำเหรียญหลวงพ่อสมเด็จวางไว้บนผ้าสังฆาฏิ กราบระลึกถึงคุณท่านก่อนจำวัดทุกคืน เป็นเช่นนี้ คืนนั้นฝันว่าท่านมาเปิดกลด แล้วถามดุๆ ว่า มาทำอะไรอยู่ตรงนี้ ก็สะดุ้งตื่น ดูนาฬิการาวตีสองกว่าๆ ก็เป็นกังวลว่า ทำไมฝันถึงหลวงพ่อสมเด็จ หรือจะมีเหตุอะไร
“ตื่นเช้ามา บิณฑบาตแล้วกลับมาฉันเสร็จ เป็นห่วงว่าหลวงพ่อสมเด็จจะไม่สบายหรือเปล่า เลยเข้าไปบอกลาโยมในหมู่บ้านว่า อาตมาจะต้องกลับแล้ว จึงกลับไปที่วัดปากน้ำ ปรากฏว่า มีพระมาตามบอกว่า หลวงพ่อสมเด็จมาที่อุบลราชธานี แล้วท่านก็ถามถึงว่า มหาเทอดไปไหน หลวงพ่อมาที่อุบลทำไมไม่มาหา ก็เลยออกจากวัดปากน้ำไปหาท่านที่วัดวารินทราราม”
เมื่อท่านเจ้าคุณอาจารย์ไปพบหลวงพ่อสมเด็จท่านก็ถามถึงความเป็นอยู่ว่าอยู่อย่างไร ทำอะไรอยู่
“อาตมาเล่าให้ท่านฟังเรื่องงานที่ทำ และที่โยมมาขอให้เป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านบอกว่า อายุยังน้อยไม่ได้หรอก กลับไปเรียนก่อน แล้วท่านก็เรียกกลับวัดสระเกศ ก็คิดว่า จะเอาอย่างไรดี คิดทบทวนไปมาอยู่มากเป็นช่วงเวลาตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงพ่อสมเด็จท่านปรารภเช่นนี้ก็คิดว่าควรที่จะกลับ กราบเรียนให้หลวงพ่อวัดปากน้ำทราบ ท่านก็ให้ถือตามหลวงพ่อสมเด็จ จึงจองตั๋วรถไฟเดินทางกลับกรุงเทพ กลายเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น ก็ได้มาสนองงานท่านใกล้ชิดมากขึ้น
คือ ท่านให้ไปลงเรียนปริญญาโทต่อที่มหาจุฬาฯ ให้ท่องพระปาติโมกข์ ให้ท่องบทบริกรรมบางบทของสำนัก แนะนำให้ศึกษาโหราศาสตร์ไว้บ้าง เรื่องโหราศาสตร์นั้นท่านเพียงแต่ให้เรียนรู้ศาสตร์ของสำนักว่ามีอะไรเท่านั้น แต่ไม่ให้เรียนเพื่อดู ให้ทำงานเผยแผ่ ท่านเล่าว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ที่วัดสระเกศ ทรงชำนาญโหราศาสตร์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบูรพาจารย์ด้านโหราศาสตร์ เพราะทรงดูโหรจากญาณ คือ ทรงมีญาณโหรสถิต เพราะเพ่งกสิณ ที่หน้าต่างกุฏิพระองค์จะมีถาดกสิณไว้เพ่ง พระองค์ทรงมีพื้นโหรแล้ว ก็ไม่ทรงดูโหรอีกเลย แต่ทรงกำหนดจากญาณของพระองค์ แล้วแนะนำผู้ที่มาพบ เหมือนคนเข้าใจแผนที่แล้วเดินทางโดยไม่ต้องดูแผนที่
และที่สำคัญ หลวงพ่อสมเด็จท่านมอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยงดูแลแนะนำพระใหม่ ซึ่งมารู้ภายหลังว่า เป็นเรื่องที่ท่านให้ความสำคัญมาก เป็นหนึ่งในหัวใจการบริหารสำนักที่ถือมาตั้งแต่คร้ังเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร ผู้ที่จะเป็นพระพี่เลี้ยงต้องถูกคัดกรอง ถูกฝึก ถูกทดลองปฏิภาณ ถูกทดลองการเสียดทานการกระทบทางอารมณ์ ถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักจากหลวงพ่อสมเด็จ
ก่อนหน้านี้ที่เรียนปริญญาตรี หลวงพ่อสมเด็จให้เรียนอย่างเดียว ส่วนงานให้ทำตามที่เกิดขึ้นและเป็นไป ท่านให้เหตุผลว่า อาวุโสยังน้อย ยังไม่ต้องรับภาระหน้าที่อะไร ให้เรียนหนังสือ เพราะการเรียนก็เป็นภาระธุระอย่างหนึ่งที่พระเณรต้องรับผิดชอบต่อการพัฒนาตัวเอง เพื่อเตรียมตัวรับภาระธุระพระศาสนา
“กลับไปครั้งนี้หลวงพ่อสมเด็จเริ่มสอนให้คิด ให้มองคณะสงฆ์แบบภาพรวม ไม่ให้มองจุดใดจุดหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่ง ทั้งการปกครอง การเผยแผ่ การก่อสร้าง การช่วยเหลือสังคม การศึกษาทั้งนักธรรมบาลี และปริยัติสามัญ ตลอดจนความรู้อื่นๆ ที่ไม่ขัดพระธรรมวินัย ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ และให้มองกว้างออกไปจนถึงต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ในช่วงนั้น ก็เริ่มเขียน “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม” ซึ่งตอนแรกไม่ได้ตั้งใจทำเป็นหนังสือ แต่เริ่มต้นจากการเขียนจดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ (โยมย่า) ก่อน เพราะตอนที่กลับมาที่บ้านเกิดในอุบลราชธานี ทุกครั้งที่วัดจัดปฏิบัติธรรม โยมแม่ใหญ่ก็จะเข้าวัดปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดด้วยเป็นประจำ ส่วนโยมพ่อใหญ่ (โยมปู่) แม้ไม่ค่อยได้เข้าวัด แต่ท่านก็จิตใจดี คิดตามประสาชาวบ้านว่า โยมแม่ใหญ่เข้าวัดแล้ว ตัวท่านก็คงจะได้เหมือนกัน เพราะตัวท่านมีอัธยาศัยชอบสันโดษ ไม่ชอบผู้คนมากมาย ชอบอยู่เถียงนา อยู่ตามป่า ตามทุ่ง แต่ถึงแม้โยมพ่อใหญ่ไม่ได้เข้าวัด พอถึงวันพระท่านก็จะเป็นผู้คอยเตือนโยมแม่ใหญ่ให้ไปวัดอยู่เสมอ
โยมทั้งสองท่านมีจิตใจดี อ่อนโยน งดงามมาก
นั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญตั้งแต่วัยเยาว์ที่ทำให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์