หอปู่และดงพระคเณศ

หอปู่และดงพระคเณศ

ความเชื่อคือสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชนมนุษย์มาช้านาน สำหรับลูกหลาน ชาวบ้านปากน้ำ แล้ว ความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่หล่อหลอมหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นมา ดำรงอยู่ ส่งต่อ และสืบทอดในวิถีแบบบ้าน ๆ สถานที่ที่ชาวบ้านให้ความยำเกรงมาพร้อมกับการตั้งหมู่บ้านมีหลายแห่ง จาก โนนพระเจ้า มา ท่าน้ำคำ ถึง หอปู่ จึงเป็น ปู่ดงพระคเณศ ปู่บุ่งสระพัง เป็นเรื่องของฤดูกาล ความราบรื่น ไม่มีเหตุเภทภัยในการทำมาหากิน ความอุดมสมบูรณ์ ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ส่วน ปู่ดงพระคเณศ เป็นเรื่องของความร่มเย็นเป็นสุขของหมู่บ้าน การปกปักรักษา การปัดเป่าความทุกข์ความเดือดร้อน

ใต้ หอปู่บุ่งสระพัง มีน้ำส้างศักดิ์สิทธิ์ ใต้ หอปู่ดงพระคเณศ ก็มี น้ำส้างศักดิ์สิทธิ์ เช่นกัน บ่อน้ำหอปู่บุ่งสระพัง นั้นชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี ชาวบ้านเรียกว่า “ส้างปู่” เมื่อก่อนใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องแวะขอตักน้ำปู่กิน ใครเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย มีไร่มีสวนอยู่แถบนี้ก็ต้องกินน้ำส้างปู่ที่ท่าหอปู่กันทั้งนั้น เวลาชาวบ้านออกไปหาปลาที่แม่น้ำมูล ต้องอยู่ในเรือเป็นเวลานานหลายชั่วโมง บางทีต้องอยู่จนดึกดื่นค่อนคืนจึงขึ้นฝั่งหุงหาข้าวปลากิน เวลาพายเรือมาจากหัวบุ่ง ก่อนออกมูลจะผ่านหอปู่ ต้องแวะตักน้ำที่ส้างปู่ไปกินระหว่างอยู่ในเรือหาปลา

นอกจากนั้น ชาวบ้านยังเชื่อกันว่า เวลาไม่สบาย เป็นไข้ ปวดท้อง กินหยูกยาอย่างไรก็ไม่หาย เชื่อว่า ทำผิดปู่ ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะให้ไปเอา น้ำจากหอปู่ มากินจึงจะหาย ก็จะพากันมากราบหอปู่หงก ๆ สามที จากนั้น จึงลุกไปตีเกราะไม้ข้างหอบอกกล่าวขอน้ำปู่ แล้วลงมาส้างปู่เอามือกอบน้ำกินสองสามอึก ด้วยความที่ชาวบ้านปากน้ำตั้งหมู่บ้านอยู่ ริมบุ่งสระพัง อาศัยหากินอยู่กับบุ่งกับมูล ตลอดริมฝั่งบุ่งสระพังจึงมีท่าน้ำสำหรับลงหาปลาอยู่ตลอดแนว แต่จะเว้นไว้ท่าหนึ่งสำหรับตั้ง หอปู่ ซึ่งท่านี้ชาวบ้านถือกันมาว่า จะไม่ลงหาปลา ใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องบอกต้องขอปู่ จะว่าไปก็เหมือนกุศโลบายของคนรุ่นปู่รุ่นย่าให้ปลาได้มีพื้นที่แพร่พันธุ์
ความเชื่อที่ลูกหลานชาวบ้านมีต่อปู่บุ่งสระพังถูกสอนกันมาจากรุ่นปู่รุ่นย่าสู่รุ่นพ่อแม่แล้วส่งต่อถึงลูกหลาน กลายเป็นความยำเกรงที่ถูกสอนกันมาว่า “บ่ให้ข้วมบ่ให้กาย” แล้วช่วยกัน “สืบฮอยตาวาฮอยปู่” จนเชื่อกันว่า ชาวบ้านปากน้ำเป็นลูกหลานจ้าวปู่ แล้วแปรสภาพความเชื่อสู่วิถีชุมชน

แม้กระทั่งใครก็ตามที่จะชกมวย ก็ต้องมีฉายานักมวยของตัวเองว่า “ลูกจ้าวปู่” เวลาขึ้นชกมวยใครมีชื่อนักมวยต่อท้ายว่าลูกเจ้าปู่ก็เป็นอันรู้กันว่านักมวยรายนี้เป็นลูกหลานบ้านบาก
ส่วนปู่วัดป่าใครจะเกณฑ์ทหาร ไม่อยากให้ลูกติดทหารก็ต้องมาขอจากปู่วัดป่า อยากเป็นข้าราชการ อยากเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง อยากมีชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จัก อยากให้คนนับหน้าถือตา อยากทำการงานสำเร็จลุล่วง อยากทำมาค้าคล้อง ก็ต้องมากราบมาไหว้ ลูกจะเดินทางไกลไปทำงานกรุงเทพกรุงไทก็ต้องมากราบมาขอให้ปู่ตามรักสมรักษา กลับจากกรุงเทพก็ต้องมาบอกมากล่าวให้ปู่รู้
หากมีอะไรมาต้องมาซูน หรือมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เป็นต้องมาถามปู่วัดป่าว่าจะกันจะแก้อย่างไร
เวลามีบุญศีลกินทานของหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นต้องถึงปู่วัดป่าทั้งนั้น ไปบอกให้ขึ้นมาเอาบุญ วันเข้าพรรษาวันออกพรรษาไม่ขาด ต้องมานิมนต์ปู่เข้าพรรษาออกพรรษาทุกปี นับถือกันอย่างนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ จนกลายเป็นคำสอน “อย่าถิ้มอย่าป๋า อย่าแกว่งค้อนกายหมากม่วง”

ปีนี้ลูกหลานชาวบ้านปากน้ำบูรณะศาลปู่วัดป่าขึ้นใหม่เพราะใช้มานานปี ต้องใช้ไม้มากพอสมควร เมื่อพายุปีก่อนโน้น ต้นไม้ในวัดป่าโค่นลง 3 ต้น สามารถเอามาเลื่อยใช้ซ่อมศาลปู่ได้ ดูแล้วก็คงยังไม่พอ
แต่แล้วต้นไม้ที่วัดป่าก็ล้มลงเพิ่มอีกสองต้น ช่วงหกโมงเย็นล้มต้นหนึ่ง พอเช้ามืดของคืนวันนั้นล้มลงอีกต้นหนึ่ง ยอดหักขาดออกจากลำต้นเหมือนถูกเด็ดยอด เพื่อให้นำไปใช้งาน โดยไม่มีรอยฉีกเสียหาย ทั้งที่ ๆ วันนั้น ไม่มีฟ้ามีฝนอะไร (15 ส.ค.2566) ช่างบอกว่า เครื่องไม้ส่วนหลัก ๆ น่าจะพอสำหรับซ่อมศาลแล้ว
เกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของวัดป่า เมื่อสืบค้นกับหลักฐานทางโบราณคดีก็พบข้อมูลสำคัญบ่งชี้ว่า สถานที่แห่งนี้น่าจะเปลี่ยนผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย ผ่านความรุ่งโรจน์และเสื่อมสลายสลับกันไป จึงน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่ทับถมกันมา 3 ยุคด้วยกัน

ยุคอาณาจักรเจนละ (ราวพ.ศ. 1100 -1300 ปี) ขุดพบพระพิฆเณศวร์หินทราย, หินปลียอดปราสาท และโคอุสุภราชหินทราย หรือ งัวกระทิงหมอบ ตามความใจของพ่อ ซึ่งขณะนั้น กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ประทับที่เมืองอุบลราชธานี (พ.ศ. 2436 – 2453) คงทราบว่า มีการขุดพบพระพิฆเณศวร์หินทราย, หินปลียอดปราสาทที่ดงพระคเณศ บ้านบาก จึงออกมาตรวจสอบและนำไปเก็บไว้ที่พำนัก

ต่อมา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน ติสฺโส) ขณะนั้น ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนาราม (พ.ศ.๒๔๔๖) ได้แนะนำกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ว่าของสิ่งนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่ในบ้าน ขอให้นำไปถวายวัด กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์จึงนำไปถวายไว้ที่วัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลราชธานี พระพิฆเณศวร์หินทราย และหินปลียอดปราสาทซึ่งขุดพบที่ดงพระคเณศจึงถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดสุปัฏนารามมาจนถึงปัจจุบัน
ใครถามถึง พระพิฆเณศวร์ ซึ่งขุดพบที่ดงพระคเณศ ชาวบ้านก็มักจะตอบตามที่รู้กันมาว่าอยู่วัดสุปัฏนาราม เมื่อก่อนจำได้ลาง ๆ ว่า พระพิฆเณศวร์หินทรายถูกตั้งแสดงไว้กลางแจ้งหน้าอุโบสถวัดสุปัฏนาราม ใครไปใครมาต่างก็บอกว่าพระคเณศจากดงพระคเณศ บ้านบาก ต่อมาทางวัดได้นำเข้าไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์

ฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมาว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ไปเยี่ยมอาการป่วยของ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เห็นพระพิฆเณศวร์หินทราย และหินปลียอดปราสาทอยู่ในบ้าน คงจะแนะนำกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ว่าของสิ่งนี้ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในบ้าน ควรนำไปถวายวัด กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จึงได้นำ พระพิฆเณศวร์หินทราย และหินปลียอดปราสาทไปถวายไว้ที่ วัดสุปัฏนาราม
อนึ่ง องค์พระพิฆเณศวร์หินทรายซึ่งขุดพบที่ดงพระคเณศนั้นจะมีเดือยสำหรับต่อกับแท่นหินเพื่อตั้งองค์พระพิฆเณศวร์ แต่ไม่ปรากฏเห็น แสดงว่ายังมีส่วนที่เป็นแท่นหินสำหรับตั้งอยู่อีก อาจจะหนักเคลื่อนย้ายยากจึงไม่ได้นำขึ้นมา หรือขณะนั้นอาจจะพบเฉพาะส่วนองค์ พระพิฆเณศวร์ ก็เป็นได้ สำหรับ โคอุสุภราชหินทราย หายได้ไปจากวัดป่านานมาแล้ว แต่จะหายไปตอนไหนก็คงไม่มีใครรู้

ยุคทวารวดี (ราว พ.ศ.1100 -1700 ปี) พบพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย 2 องค์ พระสังกัจจายหินทราย และพระพุทธรูปหินทรายปางต่าง ๆ อีกหลายองค์ ปัจจุบัน พระพุทธรูปปางนาคปรกหินทราย และ พระสังกัจจาย ประดิษฐานอยู่ วัดปากน้ำ นอกจากนั้น บริเวณวัดป่ายังพบกลุ่มใบเสมาหินทรายหลากหลายขนาดตั้งกระจัดกระจ่ายอยู่ตามป่าเป็นจำนวนมาก และยังได้พบโครงกระดูกคนโบราณหลายโครงด้วยกัน ชาวบ้านเรียกว่า “กระดูกคนแปดศอก” ต่อมาพ่อถ่านได้นำชาวบ้านสร้างธาตุบรรจุร่วมกันเอาไว้ เรียกว่า “ธาตุคนแปดศอก”

แต่เมื่อพิจารณาตามข้อมูลทางโบราณคดี ระหว่าง เสมาหินทรายยุคหิน ตั้งที่แสดงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่กับเสมาหินทรายที่ใช้กำหนดเขตแดนพัทธสีมาในสังฆกรรมทางพระพุทธศาสนายุคทวารวดี และศาสนสถานพราหมณ์ยุคเจนละที่ซ้อนทับกันอยู่ในบริเวณวัดป่า ก็เป็นการยากที่จะระบุชัดลงไปได้ว่า ยุคไหนจะรุ่งเรืองและเสื่อมสลายก่อนหลังกัน เพราะมีช่วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยวกันอยู่
ปัจจุบัน ใบเสมาหินทรายบางส่วนยังอยู่ที่วัดป่า บางส่วนถูกขนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดปากน้ำและถูกบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป คาดว่าน่าจะมีการขนย้ายขึ้นมาช่วงที่ชาวบ้านย้ายหมู่บ้านหนีภาวะน้ำท่วมขึ้นมาอยู่ดงบาก และขณะขุดดินซ่อมศาล ยังได้พบใบเสมาหินอีกสองอันฝังอยู่ใต้ศาล มีขนาดไม่ใหญ่มาก คาดว่า พ่อถ่านน่าจะฝังไว้สะดือศาลตอนซ่อมศาลครั้งก่อน
ยุคพระวอ-พระตาตั้งเมืองดอนมดแดง (ราว พ.ศ. 2311) ขุดพบพระพุทธรูปบุเงิน ศิลปะเชียงแสน ล้านช้าง (หลวงพ่อเงิน) ถูกฝังไว้ภายในกล่องหินภายในเต็มไปด้วยทราย พระผงหว่านจำปาสัก และพระในรูปแบบอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ปัจจุบัน อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่วัดปากน้ำ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ขณะขุดพบพระพุทธรูปนั้น บ้านบากขึ้นกับตำบลดอนมดแดง ก่อนจะมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่มาขึ้นกับตำบลกุดลาด อำเภอเมือง

เมื่อก่อนมักจะได้ยินเรื่องเล่าปรัมปราของหมู่บ้านเกี่ยวกับ ดงพระคเณศ ที่คนเฒ่าคนแก่พูดถึง กองทัพช้าง กองทัพม้าของปู่วัดป่า ขึ้นมาเดินตรวจตราตามหมู่บ้านอยู่เสมอ บ้างก็ว่า มีดวงไฟเท่าจาวมะพร้าวสุกสว่างลอยจากหอปู่บุ่งสระพังมาดงพระคเณศ ลอยจาก ดงพระคเณศ ขึ้นมาหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่จะบอกลูกบอกหลานว่า ปู่วัดป่าท่านมาเยี่ยมกัน บ้างก็ว่า เห็นไฟพะเนียงพุ่งขึ้นจากดินแล้ววิ่งหายเข้าไปใน ป่าโนนบก ก็ว่า ปู่ย้ายสมบัติหนีเพราะกลัวคนหาเจอ ตกถึงวัน พระใหญ่ ก็มักจะแว่วได้ยิน เสียงฆ้องใหญ่ ดังสะท้อนป่ามาจากที่ใดสักแห่ง
ความยำเกรงที่ชาวบ้านปากน้ำมีต่อปู่บุ่งสระพังและปู่ดงพระคเณศกลายเป็นเรื่องเล่าปรัมปราที่สะท้อนถึงความเชื่อความศรัทธาที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ แล้วส่งต่อสู่ลูกหลานผ่านการปฏิบัติตามฮีตคลองจนเป็นแบบแผนของชุมชน ไม่ว่าหลักฐานทางโบราณคดีจะบ่งชี้ไปอย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้แบบแผนชีวิต ฮีตคลอง และความเชื่อของชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไป

https://www.facebook.com/Watbanbak1   https://www.paknamubonclub.com/วัดป่าบ้านบาก-ดงพระคเณศ/