ประเพณีบุญวันเนา ตบประทาย(ก่อเจดีย์ทราย) บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง 2567

คำว่า “บุญวันเนา” หรือ “บุญวันเนา” ตามคติโบราณเล่าสืบต่อกันมาถือเป็นวันไม่ดี ไม่เหมาะแก่การทำงานมงคล หรือทำการงานใดๆ ทั้งสิ้น ให้เป็นวันหยุด วางภาระต่างๆไว้ก่อน เมื่อชาวบ้านไม่ทำงาน จึงได้รวมตัวทำกิจกรรมร่วมเพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยการนัดรวมตัวกัน ไปทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสานสัมพันธ์ความสามัคคีของคนในชุมชน ในป่าชุมชนใกล้ท่าน้ำ หาอาหารป่า หรือปลามาทำเป็นอาหารกินข้าวร่วมกัน และยังได้นิมนต์พระสงฆ์สามเณรมาถวายภัตตาหารเพลอีกด้วย

ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง ในขณะที่รอกินข้าวร่วมกันนั้น ก็จะพากันไปขนทรายขึ้นจากแม่น้ำมาตบประทาย (ก่อเจดีย์ทราย) ที่มีรูปร่างที่แตกต่างกันไป ก่อเป็นเจดีย์ทรายเล็กๆ เท่าจำนวนอายุตนบ้าง หรือก่อเจดีย์ทรายตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวบ้าง เมื่อก่อเสร็จให้นำธงแบบต่างๆ ช่อข้าวตอก ดอกไม้ปักประดับให้สวยงามเพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องจากชาวบ้านถือคติว่าเจดีย์มีความมั่นคง จะทำให้ชีวิต หน้าที่ การงานมั่นคง และเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมาก เช่น การร้อง รำ ทำเพลง การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่า ผู้แก่ในชุมชน การสรงน้ำพระสงฆ์สามเณรเป็นต้น จนกว่าเวลาตะวันคล้อยจึงได้พากันเก็บดอกไม้ป่า แห่เข้ามาบูชาพระที่วัดในหมู่บ้านเป็นอันเสร็จกิจกรรมในวันนั้น

ชาวบ้านปากน้ำ ยังคงรักษาประเพณีอันนี้ไว้ได้กำหนดบุญวันเนาที่ บุ่งสระพัง ด้วยได้รำลึกถึงคำสั่งของหลวงพ่อ “พระครูวิโรจน์รัตโนบล” ครั้งเมื่อเกิดเหตุเดือดร้อนในบริเวณบุ่งสระพัง ชาวบ้านมีความกลัวไม่กล้าที่จะหากินในบุ่งสระพัง และน้ำมูล จึงได้พร้อมใจกันไปนิมนต์พระครูวิโรจน์รัตโนบล มาประกอบพิธีกันสิ่งไม่ดีในบริเวณบุ่งสระพังและน้ำมูล แล้วหลวงพ่อได้ปักหลักบ้านไว้และสั่งไว้ว่า ให้ชาวบ้านมาตบประทาย (ก่อเจดีย์ทราย) บูชาหลักบ้านทุกปีหลังสงกรานต์

ท่าน เจ้าคุณพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ได้ปรารภในบั้นปลายชีวิตของท่านว่า เพื่อให้สถานที่ ๆ หลวงพ่อพระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้ปักหลักบ้านยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การเคารพของอนุชนรุ่นหลัง ควรที่จะทำให้หลักบ้านตรงนี้มีความมั่นคงขึ้น จึงได้สร้างเจดีย์ครอบหลักบ้านไว้เพื่อให้เป็นถาวรวัตถุสืบไป ภายในองค์เจดีย์นั้นได้บรรจุสิ่งของสำคัญหลายอย่างไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ สักการะ บูชาตราบนานเท่านาน

 

 

ภาพโดย : สามารถ ธงกลาง https://www.facebook.com/samart.thogklang